ออกแบบภายใน คืออะไร และ ต้องเตรียมตัวสอบอย่างไร

ออกแบบภายใน คืออะไร

คือ งานออกแบบพื้นที่และส่วนต่างๆภายในอาคาร โดยเน้นการออกแบบจนถึงรายละเอียด เดิมทีงานส่วนนี้เป็นหน้าที่ของสถาปนิก ตั้งแต่สมัยโบราณสถาปนิกทำหน้าที่ออกแบบทุกอย่างที่เกี่ยวกับอาคารและการก่อสร้าง ตั้งแต่การออกแบบตัวอาคาร ภายในอาคาร จนถึงพื้นที่โดยรอบรวมไปจนถึงการกำหนดรูปแบบโครงสร้าง
เป็นเช่นนี้มาตลอดตั้งแต่ก่อนยุคโรมัน ยุคกลาง จนเริ่มเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ ได้แยกงานที่ต้องคำนวนโครงสร้างการรับแรงของอาคารโดยใช้การคำนวนการรับแรงด้วยวิชาคณิตศาสตร์และฟิสิกส์ออกไปเป็นงานวิศวกรรม เกิดการแยกอาชีพเป็นวิศวกร และสถาปนิกออกจากกัน
เมื่อเวลาผ่านไป มีการสั่งสมองค์ความรู้เรื่องการออกแบบ วัสดุ และการก่อสร้างก็เกิดการพัฒนาวิธีการทำงาน แยกออกเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางในยุค Modern (ประมาณ คศ. 1850-1900) งาน ออกแบบภายใน เริ่มเป็นงานเฉพาะทางที่ชัดเจน
โดยมีลักษณะที่แตกต่างจากงานออกแบบของสถาปนิกที่เน้นการใช้สอย การแก้ปัญหา และสร้างความประทับใจ ความหมาย และคุณค่าทางใจ ด้วยวิธีที่มีเหตุมีผล มีความชัดเจน และตรงไปตรงมา ในขณะที่การ ออกแบบภายใน จะมีลักษณะของงานศิลปะ หัตถกรรม (Craft) และการประดับตกแต่ง (Decorative Art) มีความละเมียดละไม มีการออกแบบที่คำนึงถึง scale เล็ก และละเอียดมากกว่า ใช้ความรู้สึก และความหมายในเชิงนามธรรม และการสื่อเรื่องราวในการออกแบบ มากกว่างานสถาปัตยกรรม

เมื่องานออกแบบภายในเริ่มเปิดการเรียนการสอนในประเทศไทยเป็นที่แรกๆ ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร จึงได้จัดให้อยู่ในคณะมัณฑนศิลป์ ซึ่งตรงกับภาษาอังกฤษว่า “Decorative Art”
โดยวางแนวทางการเรียนการสอนเอนเอียงไปทางงานศิลปะที่นำมาใช้ในการตกแต่ง เมื่อเวลาผ่านไป การออกแบบภายในมีความต้องการแพร่หลายมากขึ้น จึงมีสถาบันที่เปิดการเรียนการสอนตามมาภายหลังเพิ่มเติมคือ จุฬาฯ และ พระจอมเกล้าฯลาดกระบัง โดยให้สังกัดอยู่กับคณะสถาปัตย์ เป็นภาควิชาออกแบบภายใน
เนื่องจากเห็นว่าเป็นงานออกแบบในกลุ่มของการก่อสร้างอาคาร มีส่วนที่ใช้องค์ความรู้ร่วมกัน และต้องทำงานร่วมกันหลังจากเรียนจบ มหาวิทยาลัยอื่นๆที่เปิดการเรียนการสอน ออกแบบภายใน ขึ้นหลังจากนี้ต่างก็เปิดเป็นภาควิชาภายในคณะสถาปัตยกรรมทั้งหมด

 

"ออกแบบภายใน คืออะไร และ ต้องเตรียมตัวสอบอย่างไร - choice

  • ข้อสอบ Interior design เป็นโจทย์ที่ต้องออกแบบ สถานที่ตามเงื่อนไขที่โจทย์กำหนดมา หากเป็นการสอบจะเป็นงานชิ้นเดียว ทำในเวลา 3 ชั่วโมงเหมือนงานวาดเส้น แต่ยากกว่ามาก เพราะต้องคิดแบบให้น่าสนใจ ตอบโจทย์ และยังต้องวาดและลงสีอย่างละเอียดสวยงามให้ทันในเวลา ซึ่งถือว่าเป็นเวลาที่น้อยมากๆ ตัวโจทย์จะเป็นอะไรก็ได้ ทั้งห้อง ร้านค้า ซุ้มจัดแสดง และแถมด้วยเงื่อนไขที่เฉพาะเจาะจงพิเศษต่างๆ ซึ่งงานของเราต้องตอบโจทย์ทุกๆด้าน ทั้งแง่ความเหมาะสมของการใช้งานของผู้ใช้อาคาร ต้องแสดงฝีมือ รสนิยม ออกมาเป็น design ที่สวยงาม น่าสนใจ การเลือกใช้แรงบันดาลใจ และที่มาของ design เหมาะสมและเข้ากันกับสภาพแวดล้อม วัฒนธรรม ต้องแสดงการใช้ furniture วัสดุ ไฟแสงสว่าง ของตกแต่ง ที่รวมกันแล้วเหมาะสม เข้ากัน จึงต้องใช้ skill การวาด การลงสี และการ design รวมกันและวัดกันในงานชิ้นเดียว ฉะนั้นถึงแม้ข้อสอบ PAT4 ของสถาปัตย์จะมีปริมาณมากและหลากหลายข้อในเวลาเท่ากัน แต่ก็ยังแยกออกเป็นเรื่องๆ ในขณะที่ข้อสอบออกแบบภายในทำแค่ข้อเดียว แต่ต้องรวมความรู้ทั้งหมด และฝีมือทั้งหมดมาลงในงานเดียว จึงอาจจะเรียกได้ว่ามีความยากมากกว่าการสอบเข้าสถาปัตย์พอสมควร หากเป็นการทำงานเพื่อส่งเป็น portfolio ก็มีโอกาสทำงานหลายชิ้น โดยทางมหาวิทยาลัยอาจกำหนดโจทย์มาให้ หรือให้เราเลือกทำส่งเองก็เป็นไปได้ทั้งสองทาง อย่างไรก็ตาม ควรเลือกทำงานที่แสดงความสามารถทาง design ที่หลากหลาย สำหรับคนที่สมัครเข้าโดยการส่ง portfolio ยังไงก็ต้องมีการทดสอบในช่วงสอบสัมภาษณ์อีกครั้ง โดยให้ทำงานปฎิบัติในเวลาที่จำกัด เพื่อทดสอบว่างานใน portfolio ที่ส่งมาเป็นงานที่ทำเองจริงๆ ฉะนั้นการฝึกทำงานในเวลาจำกัด 3 ชั่วโมงเหมือนการสอบก็ยังเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับคนที่จะสมัครโดยการส่ง portfolio

    ออกแบบภายใน คืออะไร และ ต้องเตรียมตัวสอบอย่างไร - Interior design
    ออกแบบภายใน คืออะไร และ ต้องเตรียมตัวสอบอย่างไร - Interior design
    ออกแบบภายใน คืออะไร และ ต้องเตรียมตัวสอบอย่างไร - Interior design

 

เตรียมตัวยังไงดี

การเตรียมตัวคล้ายๆกับการสอบเข้าสถาปัตย์ คือต้องมีเวลาและความทุ่มเทให้การเรียนรู้และฝึกฝน น้องๆบางคนที่มีข้อจำกัดมาก ประมาณว่ามีงานที่โรงเรียนมาก ต้องทำงานส่งอันนั้นอันนี้ ต้องทำเกรดที่โรงเรียน ต้องไปเที่ยวกับที่บ้านนั่นนี่ ยังไงก็ไม่จัดการเวลาชีวิตตัวเอง ยังไงก็มีเวลาให้เท่านี้แหละ นอกจากนี้ ยังมีน้องๆหรือผู้ปกครองบางคนที่ยังคิดว่าถ้าเรียนวิชาการไม่เก่ง ก็ให้เรียนสายศิลปะและออกแบบแทนเพราะคิดว่าเรียนง่ายกว่า ขอบอกเลยว่าเป็นความคิดที่ผิดอย่างแรง การฝึกฝนเตรียมตัวเพื่อเข้าคณะสถาปัตย์ที่ว่ายากแล้ว การเตรียมตัวเข้า ออกแบบภายใน นั้นยากยิ่งกว่า

ออกแบบภายใน คืออะไร และ ต้องเตรียมตัวสอบอย่างไร

  1. หาเวลาให้เพียงพอ การฝึกและเรียนรู้ความถนัดสถาปัตย์ ยังไงก็ต้องใช้เวลาในการฝึกซ้ำๆ อย่างต่อเนื่อง มีน้องๆหลายคนมาสมัครเรียนก่อนสอบ 4 เดือนบ้าง 6 เดือนบ้าง สมมติว่า 6 เดือน มีเวลาเรียนสัปดาห์ละ 3 ชม. เท่ากับ 6เดือน x 4สัปดาห์ x 3ชม. = 72 ชม. ลองกลับไปอ่านดูนะครับว่า การสอบเข้าจะต้องฝึกต้องเรียนรู้อะไรบ้าง มันเยอะมากนะครับ มันแทบเป็นไปไม่ได้สำหรับเวลาแค่ 72 ชม. เวลาที่เหมาะสมแบบคร่าวๆคือประมาณ 1ปี ถึง 1ปีครึ่งก่อนสอบหรือก่อนส่ง portfolio โดยใช้เวลาเรียนสัปดาห์ละ 3 ชม. และใช้เวลาฝึกตามที่เรียนมาในแต่ละสัปดาห์ อย่างน้อยทุกวัน วันละ 1 ชม. รวมแล้วควรจะใช้เวลาเรียนและฝึก 12เดือน x 4สัปดาห์ x 3+6ชม.= 432 ชม. หากใช้เวลาได้ตามนี้ จะมีโอกาสสอบติดและเรียนจบได้สูงมาก สำหรับบางคนที่มาเรียนตอนใกล้สอบแล้วยังสามารถสอบติดได้ ปรากฎว่าหลายคนไม่สามารถเรียนได้ ต้องซิ่วออกตั้งแต่ปีแรกจำนวนมาก ฉะนั้นคำแนะนำสำหรับคนที่คิดจะเข้าคณะสถาปัตย์คือ เริ่มเตรียมตัวแต่เนิ่นๆ อย่างน้อย 1 ปีก่อนสอบที่จะต้องละทิ้งสิ่งที่ไม่จำเป็น และมีเวลาให้ชีวิตส่วนตัวน้อยลง อาจจะต้องลดความสำคัญในการเรียนวิชาสามัญลง โดยช่วงนี้จะเป็นเวลาที่ต้องอุทิศตัวให้การเรียนและการฝึก เพื่อเปลี่ยนนิสัยบางอย่างจากคนธรรมดาให้เป็นนิสัยและพฤติกรรมเฉพาะของ นักออกแบบ
  2. มีวินัยในการฝึกฝน เมื่อหาเวลาเริ่มเรียนได้แล้วคือการหาเวลาฝึกที่เพียงพอและสม่ำเสมอ เนื่องจากสายออกแบบทั้งหมดจะเป็นงานปฎิบัติแบบเข้มข้นทั้งสิ้น การเรียนในเวลาเรียน ครั้งละ 3 ชม. สอนได้เพียงความรู้ความเข้าใจแนวความคิด และวิธีวาดวิธีออกแบบเท่านั้น การรู้ในหัวสมองอย่างเดียวไม่สามารถทำให้น้องๆวาดหรือออกแบบได้จริงๆ ต้องประกอบกับการฝึกฝน ทำซ้ำๆ แล้วนำผลงานจากการฝึกมา comment จากผู้สอน เพื่อแก้ไขจุดที่ยังไม่ดี พัฒนางานให้ได้งานที่ดีขึ้น
  3. ฝึกนิสัยเป็นคนละเอียด ใส่ใจทุกอย่าง เนื่องจากการสอบให้ความสำคัญกับความถูกต้องตามโจทย์มากๆ แม้ว่าผลงานจะดีงามแค่ไหน หากผิดไปจากสิ่งที่โจทย์กำหนดแม้เพียงเล็กน้อยจะมีผลให้โดนหักคะแนนทันที ยิ่งผิดหลายจุด หรือผิดในจุดที่สำคัญมากๆอาจจะทำให้ข้อนั้นๆถูกหักคะแนนมากจนแทบจะไม่ได้คะแนนเลย
  4. ช่างสังเกตุสิ่งต่างๆรอบตัว เป็นนิสัยที่สำคัญสำหรับนักออกแบบที่แตกต่างจากคนทั่วๆไปอย่างชัดเจน การสังเกตุสิ่งรอบตัวจะทำให้จดจำรายละเอียดต่างๆไว้ใช้ในการออกแบบ และการทำงานได้ เช่น ข้อสอบอาจจะให้วาด perspective ร้านก๋วยเตี๋ยวรถเข็นริมถนน หากเราไม่เคยสังเกตุของจริงในชีวิตประจำวันเลย ย่อมไม่มีทางที่จะวาดออกมาได้ใกล้เคียงความเป็นจริง
  5. ดูงานเยอะๆ ทั้งดูงานออกแบบ ดูหนังดีๆ ไปเที่ยวสถานที่ดีๆต่างๆ ไปดูเทศกาลศิลปะ เทศกาลงานออกแบบต่างๆ หาความรู้ ศึกษาศิลปะวัฒนธรรม เพื่อเก็บไว้เป็นข้อมูลมาใช้ในงานตัวเอง การออกแบบที่แท้จริงไม่ใช่การนั่งนึกคิดออกมาจากความว่างเปล่า แต่เป็นผลรวมที่เกิดจากการผสมผสานสิ่งที่เห็นมา และประสบการณ์ต่างๆจำนวนมาก เพื่อให้งานออกแบบน่าสนใจ มีความลึกซึ้ง มีที่มาที่ไป คนที่มีข้อมูลในหัวน้อยจะเสียเปรียบมาก ควรฝึกให้มีความสนใจ และเสพงานออกแบบมากๆจนเป็นนิสัย ยิ่งในยุคนี้เราสามารถหาดูงานออกแบบได้ง่ายๆจาก internet เช่น pinterest, instragram และเวปงาน design อื่นๆ
  6. มีมาตรฐานสูง เนื่องจากงานสถาปัตย์วัดกันที่คุณภาพของงานเป็นสำคัญ การทำงานและฝึกฝนควรมุ่งไปที่ผลงานที่ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ในทุกชิ้น และพัฒนาให้ดีขึ้นในชิ้นต่อไปเรื่อยๆ น้องๆต้องฝึกประเมินงานของตัวเองว่ามีจุดด้อยตรงไหน ยังปรับอะไรให้ดีกว่าที่เป็นอยู่ได้บ้าง จะสามารถพัฒนาฝีมือได้เร็วกว่าการรอ comment จากพี่ๆเพียงอย่างเดียว สำหรับบางคนที่มีมาตรฐานการทำงานสูงและรู้จักสังเกตุเรียนรู้จากงานนักออกแบบที่เก่งๆด้วยตนเอง ก็จะสามารถฝึกตัวเองจากการทำงานโดยไม่ต้องติวเลยก็เป็นไปได้
  7. มองโลกตามที่เป็นจริง และมีทัศนคติที่ดีเกี่ยวกับชีวิตและการทำงาน น้องๆหลายคนมีปัญหาเรื่องมุมมองที่ผิดเพี้ยนบิดเบี้ยว เช่นบางคนทำงานได้ไม่ดี คิดงานไม่ออก ก็เสียกำลังใจ ยิ่งเปรียบเทียบงานตัวเองกับงานเพื่อนแล้วสู้ไม่ได้ ยิ่งเสียความมั่นใจ คิดว่าตัวเองไม่เก่ง เรียนไม่ได้ ไม่อยากสู้ต่อ ความรู้สึกเศร้าซึม รู้สึกด้อยย่อมมีผลต่อการฝึกฝนเรียนรู้ ในความเป็นจริงเราด้อยกว่าเพื่อนเมื่อเทียบกันที่ผลงานก็เป็นสิ่งที่ควรยอมรับความจริง แต่ความจริงอีกด้านคือ เรายังมีเวลามีโอกาสจะแก้ไขพัฒนาตัวเอง เมื่อมองแบบนี้ก็จะเห็นความเป็นไปได้ที่จะเก่งขึ้นจนเท่าเทียมกับเพื่อนหรืออาจจะเก่งกว่าได้ในอนาคต การมองแบบนี้ย่อมให้ความรู้สึกฮึกเหิม อยากต่อสู้ อยากฝึกให้เก่งขึ้น หากมองลงไปในรายละเอียดก็จะยิ่งเห็นจุดที่เราด้อยกว่าเป็นข้อๆ ทำให้เราสามารถแก้ไขพัฒนาตัวเองได้ถูกจุด โดยปกติแล้วอารมณ์หดหู่ท้อแท้ เศร้าซึมต้องมีบ้างจากการทำงานไม่ได้ตามที่หวัง ไม่จำเป็นต้องไปปฎิเสธหรือกำจัดมันออกไป ควรจะรับรู้มันตามที่เป็นจริง แต่ระวังไม่ให้จมลงไปในอารมณ์นั้น พยายาม focus ไปที่สิ่งที่ควรจะทำเพื่อพาตัวเองให้พ้นไปจากจุดที่แย่ๆ

 


สามารถติดต่อเราได้ที่นี่
ครูอะไหล่
เบอร์โทรศัพท์ : 083-615-2391
Facebook : viridian academy of art
Line : @viridian
Instargram : viridian academy of art 
Email : viridian.academy.2019@gmail.com

หรือ จากปุ่มมุมขวาล่าง

บทความที่เกี่ยวข้อง