ทราบหรือไม่ว่า แฟชั่นการแต่งกายตามสีประจำวันเพื่อความเป็นสิริมงคล นั้นมีมาอย่างยาวนานแล้วค่ะ
คนสมัยก่อนเรียกการนุ่งห่มนี้ว่า “สวัสดิรักษา”
การนุ่งห่มเริ่มกันตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น มักจะนุ่งห่มสไบตัดกับโจงกระเบนคนละสี นิยมแต่งกันเฉพาะชาววังหรือชนชั้นสูงและชาวบ้านต่อมาในภายหลัง โดยสีตามวันนั้นถูกกำหนดมาจากสีประจำตัวเทพยดาพระเคราะห์ประจำวันตามความเชื่อ
และเดิมทีการแต่งกายนี้มีอยู่ในคำฉันท์ภาษาบาลีชื่อ “สวัสดิรักษาคำฉันท์” แต่คนส่วนมากไม่เข้าใจเพราะมีเนื้อหาที่เข้าถึงได้ยาก สุนทรภู่จึงได้ประพันธ์ “สวัสดิรักษาคำกลอน” ขึ้นเพื่อให้เข้าใจได้โดยง่ายและเผยแพร่สู่ทุกชนชั้น ในระหว่างปี พ.ศ. 2364-2367 อีกด้วยค่ะ
เนื้อความคำกลอนมีอยู่ว่า
อนึ่งภูษาผ้าทรงณรงค์รบ
ให้มีครบเครื่องเสร็จทั้งเจ็ดสี
วันอาทิตย์สิทธิโชคโฉลกดี
เอาเครื่องสีแดงทรงเป็นมงคล
เครื่องวันจันทร์นั้นควรสีนวลขาว
จะยืนยาวชันษาสถาผล
อังคารม่วงช่วงงามสีครามปน
เป็นมงคลขัตติยาเข้าราวี
เครื่องวันพุธสุดสีด้วยสีแสด
กับเหลือบแปดปนประดับสลับสี
วันพฤหัสจัดเครื่องเขียวเหลืองดี
วันศุกร์สีเมฆหมอกออกสงคราม
วันเสาร์ทรงดำจึงล้ำเลิศ
แสนประเสริฐเสี้ยนศึกจะนึกขาม
หนึ่งพาชีขี่ขับประดับงาม
ให้ต้องตามสีสรรพ์จึงกันภัย ฯ
มาดูภาพตัวอย่างชุดสีตามวันกันค่ะ
วันอาทิตย์
นุ่งเขียวก้ามปู ห่มดินหลงเทศ
วันจันทร์
นุ่งนวล ห่มมอคราม
วันอังคาร
นุ่งน้ำหมาก ห่มโศก
วันพุธ
นุ่งเขียวดิน ห่มจำปา
วันพฤหัสบดี
นุ่งเสน ห่มตองอ่อน
วันศุกร์
นุ่งเมฆคราม ห่มจันทร์
วันเสาร์
นุ่งม่วงเม็ดมะปราง ห่มโศก