น้องๆหลาายคนที่อยากจะเข้าคณะสถาปัตย์ คงจะมีหลายๆคนที่ตั้งคำถามที่ หลายคนที่มีข้อสงสัยกันว่า คณะสถาปัตยกรรม คืออะไร , สถาปัตเรียนเกี่ยวกับอะไร , ถ้าเรียนแล้วยากหรือไม่ หรือ ต้องวาดรูปเก่งไหมถ้าจะเรียน อีกทั้งยังคำถามอื่นๆอีกมากมาย น้องๆต้องทำความเข้าใจก่อนว่า งานสถาปัตยกรรมนั้น แตกต่างอย่างไร ที่พักอาศัย และ อาคารต่างๆต่างกันหรือไม่ ? หากน้องๆอยากไขข้อสงสัยกันแล้วอย่ารอช้า เข้าไปอ่านในบทความกันเลย!!!!
งานสถาปัตยกรรมต่างจากอาคารธรรมดาทั่วไปอย่างไร
อาคารธรรมดาทั่วไปเน้นการใช้สอยที่ดี ให้ความสะดวกสบาย เน้นความประหยัดและคุ้มค่าในการใช้พื้นที่ เน้นความประหยัดและง่ายในการก่อสร้าง เงื่อนไขเหล่านี้ทำให้เกิดมาตรฐานการใช้งานและการก่อสร้างของอาคารชนิดต่างๆ การที่จะสร้างอาคารธรรมดาจึงไม่จำเป็นต้องใช้สถาปนิกออกแบบ แค่ใช้วิศวกรออกแบบตามเงื่อนไขที่จำเป็น และใช้ผู้รับเหมาทำการก่อสร้างก็จะได้อาคารสำหรับใช้งานทั่วไป
- ยกตัวอย่างเช่น อาคารโรงงาน
- โกดัง
- อพาร์ทเมนท์
- ตึกแถวธรรมดา
- โรงเรียนประชาบาล
- อาคารอื่นๆที่เห็นกันทั่วๆไป
อย่างไรก็ตาม มนุษย์ไม่สามารถขาดสิ่งที่มีคุณค่าทางใจ สิ่งที่มีความหมาย ให้ความรู้สึกพิเศษ มนุษย์ยังคงต้องการอะไรที่มากไปกว่าสิ่งสามัญธรรมดาซึ่งเห็นกันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน การพยายามค้นหาความหมายและสร้างคุณค่าทางใจนี้เองคือการออกแบบ มนุษย์จึงได้ออกแบบสิ่งต่างๆ รวมไปถึงอาคารและสิ่งปลูกสร้างซึ่งสถาปนิกคือผู้ออกแบบ ให้อาคารเหล่านี้มีคุณค่าและความหมายมากกว่าเป็นอาคารที่แค่ตอบสนองความต้องการพื้นฐาน อาคารที่มีคุณค่าดังกล่าวนี่เองเรียกว่าสถาปัตยกรรม





สาขา/ภาควิชาใน คณะสถาปัตยกรรม
แต่ละสถาบันมักจะมีสาขาย่อย ซึ่งแยกกันรับตั้งแต่แรก หมายความว่าต้องแยกกันยื่นสมัคร บางสาขาต้องแยกสอบโดยใช้ข้อสอบต่างกัน ซึ่งแต่ละสถาบันก็มีการแบ่งสาขาต่างๆกันอีก ฉะนั้นควรหาข้อมูลให้ดีก่อนว่าอยากเรียนสาขาไหน สถาบันไหน เพื่อที่จะได้เตรียมตัวได้ถูกต้อง
สาขาที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับงานสถาปัตย์
- สถาปัตย์-สถาปัตย์ หรือ สถาปัตยกรรมหลัก
เกี่ยวข้องกับการออกแบบตัวอาคารหลัก วางผัง Plan การใช้งาน ต่างๆ ว่าควรเข้ามาเจออะไรก่อนแล้วต่อด้วยส่วนไหน ขนาดห้องที่เหมาะสมควรเป็นเท่าไหร่ ควรเปิดมุมมองด้านไหนถึงจะดี รับลมด้านไหน กันแดดยังไง ออกแบบถึงรูปร่างหน้าตาอาคาร วัสดุที่ใช้ภายนอก เน้นการคิดถึงการรับรู้พื้นที่ว่าง Space ที่สอดประสานเป็นภาพรวม มองเห็นลำดับการรับรู้ของผู้เข้าใช้อาคารเป็น Shot ตั้งแต่มองเห็นระยะไกลๆ จนเข้ามาระยะใกล้ จนถึงประตูทางเข้า และเมื่อเข้ามาในอาคารแล้ว ควรมีการรับรู้เป็นลำดับยังไง ต้องประมวลสิ่งต่างๆเหล่านี้ออกมาเป็นรูปแบบตัวอาคารทั้งหลัง สถาปัตย์-สถาปัตย์ หรือ สถาปัตยกรรมหลัก เป็นภาควิชาหลักที่เปิดสอนทุกสถาบันที่มีคณะสถาปัตย์
- สถาปัตย์-ภายใน หรือ สถาปัตยกรรมภายใน หรือ Interior architecture
- เกี่ยวกับการออกแบบรายละเอียดภายในอาคาร ในห้องต่างๆ
- การจัดการพื้นที่ใช้สอยในห้อง ว่างควรวาง Furniture แบบไหนอยู่ตรงไหน หันไปทางไหน
- เลือกสีและวัสดุภายในห้องทั้งพื้น ผนัง ฝ้าเพดาน ออกแบบหน้าตา
- รายละเอียดการใช้งาน Furniture Build-in
- เลือก Furniture ลอยตัว สุขภัณฑ์ มือจับอุปกรณ์ ประตูหน้าต่าง ไปจนถึงของใช้ ของประดับ ผ้าปูที่นอน หมอน ม่าน ไฟแสงสว่างทุกจุด เรียกได้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เห็นได้ด้วยตา สัมผัสได้ด้วยมือ ต้องผ่านการคิดและเลือกอย่างพิถีพิถันทั้งหมด
เหมาะกับคนที่ใส่ใจรายละเอียดมากๆ ชอบเลือกชอบดูของแต่งบ้าน การทำงานจะใกล้ชิดกับเจ้าของโครงการมากกว่าสาขาวิชาอื่นๆ การทำงานและการเรียนจะใกล้เคียงกับคณะมัณฑนศิลป์ สาขาการออกแบบภายใน มหาวิทยาลัยศิลปากรมากๆ ในขณะที่สถาบันอื่นจะจัดเป็นภาควิชาออกแบบภายใน อยู่ในคณะสถาปัตย์ หากอยากเรียน Interior ก็สามารถเลือกได้ว่าจะเข้าที่ไหน ภาควิชาสถาปัตยกรรมภายใน เปิดสอนในคณะสถาปัตย์ มหาวิทยาลัย จุฬาฯ, ศิลปากร, พระจอมเกล้าฯลาดกระบัง, พระจอมเกล้าฯธนบุรี(บางมด), พระจอมเกล้าฯพระนครเหนือ และยังมีสถาบันอื่นๆอีก
- ภูมิสถาปัตย์ หรือ Landscape architecture
เกี่ยวกับการออกแบบภูมิทัศน์รอบนอกอาคาร ไปจนถึงการวางผังบริเวณ ผังแม่บท Masterplan ของโครงการขนาดใหญ่ งานมีขนาดที่หลากหลาย ตั้งแต่เล็กที่สุดคือสวนของงานบ้าน ไปจนถึงสวนสาธารณะ ผังโครงการจัดสรร Resort สนามกอล์ฟ และอื่นๆ โดยโครงการที่มีพื้นที่ภายนอกขนาดใหญ่ ภูมิสถาปนิกจะมีบทบาทสูง
- การออกแบบพื้นที่ภายนอกจะแบ่งเป็นส่วน Softscape คือต้นไม้ ดิน น้ำ
- ส่วน Hardscape คือถนน ทางเดิน ลาน ซุ้มประตู อาคาร ทุกอย่างที่เป็นสิ่งปลูกสร้าง ฉะนั้นการทำงานภูมิสถาปัตย์จึงต้องรู้เรื่องชนิดต้นไม้ที่เหมาะสมในเงื่อนไขที่แตกต่างกัน
- รู้เรื่องธรรมชาติและประเภทต่างๆของดิน การไหลของน้ำ การระบายน้ำ เรื่องการจัดการสัญจรของรถของคนที่เหมาะสม
- ต้องออกแบบโดยคำนึงถึงผลกระทบของภูมิประเทศ ภูมิอากาศ พืชและสัตว์พื้นถิ่นในแต่ละพื้นที่ที่มีต่อโครงการ
- ผลกระทบในทางกลับกันของโครงการที่มีต่อพื้นที่นั้นๆ นอกจากนั้นผลงานที่ออกแบบจะต้องรอเวลาให้ภูมิทัศน์เกิดความลงตัวตามธรรมชาติโดยใช้เวลาเป็นปีๆจึงจะสามารถเห็นภาพสมบูรณ์ของงานที่ได้ออกแบบไว้
- ต่างจากงานออกแบบสาขาอื่นๆที่เห็นงานที่สมบูรณ์ได้ทันทีที่สร้างเสร็จ ภาควิชาภูมิสถาปัตย์ เปิดสอนในคณะสถาปัตย์ มหาวิทยาลัย จุฬาฯ, เกษตร, พระจอมเกล้าฯลาดกระบัง, ธรรมศาสตร์, แม่โจ้
- สถาปัตยกรรมไทย
เกี่ยวกับสถาปัตยกรรมไทย ทั้งแบบไทยประเพณี ไทยพื้นถิ่น และไทยประยุกต์ เหมาะสำหรับคนที่รักความเป็นไทยจริงๆเท่านั้น การสอบเข้ามักจะสอบแยกรับตรง มีการสอบศิลปะไทยประเพณี และรับสมัครจำนวนน้อย การเรียนจะเรียนควบคู่กันทั้งการเรียนกับภาคสถาปัตยกรรมหลัก และวิชาเฉพาะของสถาปัตยกรรมไทย เปิดสอนในคณะสถาปัตย์ มหาวิทยาลัย จุฬาฯ, ศิลปากร เท่านั้น
- สถาปัตย์-ผังเมือง หรือ Urban planning
เกี่ยวกับการออกแบบ scale ใหญ่ระดับเมือง การออกแบบชุมชน และพื้นที่สาธารณะ พื้นที่อนุรักษ์ ซึ่งต้องใช้ความรู้หลายๆศาสตร์ เช่น สังคมศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ ต้องทำวิจัย เก็บข้อมูลนำมาวิเคราะห์เพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมกับพื้นที่ เปิดสอนในคณะสถาปัตย์ มหาวิทยาลัย จุฬาฯ, ธรรมศาสตร์ และมหาสารคาม เท่านั้น
สาขาที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับงานสถาปัตย์



เรียกรวมๆว่า ภาควิชาออกแบบอุตสาหกรรม หรือ Industrail design เปิดสอนในคณะสถาปัตย์ มหาวิทยาลัยต่างๆ
- จุฬาฯ
- พระจอมเกล้าฯลาดกระบัง
- พระจอมเกล้าฯธนบุรี(บางมด)
- พระจอมเกล้าฯพระนครเหนือ ซึ่งต่างกันที่พระจอมเกล้าฯ จะแยกสาขากันตั้งแต่แรก แต่จุฬาจะรับสมัครรวมกันก่อนแล้วให้เลือกเป็นเอกแยกทีหลัง
แบ่งเป็นสาขาได้เป็นสาขาต่างๆที่เกี่ยวกับการออกแบบ ไม่ว่าจะเป็น
- ออกแบบนิเทศศิลป์
- ออกแบบผลิตภัณฑ์
- ออกแบบเซรามิก
- ออกแบบสิ่งทอ
- ออกแบบเครื่องประดับ
จะเห็นว่าแยกสาขาคล้ายๆคณะมัณฑนศิลป์ ของศิลปากร ซึ่งจริงๆแล้วก็เรียนอย่างเดียวกัน จบมาทำงานเหมือน หรือบางสาขาอาจจะไม่เหมือนแต่ก็คล้ายคลึงกัน สำหรับน้องๆที่เรียนสายวิทย์มาแล้วอยากเรียนต่อสายออกแบบหากเลือกสมัครเรียน ID จุฬาฯ น่าจะเหมาะ
ส่วนน้องๆที่เรียนสายศิลป์อาจจะเลือกสมัครสายออกแบบที่ศิลปากรหรือพระจอมเกล้าฯ ซึ่งพระจอมเกล้าฯแต่ละที่จะเปิดรับสาขาต่างๆกันไป โดยพระจอมเกล้าฯลาดกระบัง มีสาขาถ่ายภาพ และภาพยนต์ อยู่ในคณะสถาปัตย์ด้วย แม้สาขาเหล่านี้จริงๆแล้วจะไม่ค่อยเกี่ยวกับสถาปัตยกรรม แต่ที่สถาบันต่างๆให้อยู่ในคณะสถาปัตย์ก็เพื่อความสะดวกในการบริหารจัดการของมหาวิทยาลัย เนื่องจากเป็นวิชาประเภทศิลปะและการออกแบบเหมือนกัน และจำนวนนักศึกษาไม่ได้เยอะมากพอที่จะแยกออกมาตั้งเป็นคณะของตัวเอง หากน้องๆสายวิทย์ที่สนใจเรียนสายออกแบบเหล่านี้ ควรหาข้อมูลเกี่ยวกับเนื้อหาการเรียนการสอน และเงื่อนไขการสอบเข้าให้ดี เนื่องจากแต่ละสาขาแต่ละที่มีรายละเอียดที่แตกต่างหลากหลายมาก
>>สามารถอ่านบทความ สิ่งที่ควรต้องรู้ก่อน เข้าสถาปัตย์ เพิ่มเติมได้ที่นี่<<
สามารถติดต่อเราได้ที่นี่
ครูอะไหล่
เบอร์โทรศัพท์ : 083-615-2391
Facebook : viridian academy of art
Line : @viridian
Instargram : viridian academy of art
Email : viridian.academy.2019@gmail.com
หรือ จากปุ่มมุมขวาล่าง