สถาปัตย์ เป็นคณะในฝันของน้องๆหลายๆคน แต่น้องๆหลายคนก็กังวลว่าตนเองเหมาะกับคณะนี้หรือไม่ ถ้าจะเข้าคณะนี้จะต้องเป็นคนแบบไหน แล้วถ้าเรียนจบแล้วสามารถทำงานอะไรได้บ้าง ไม่ใช่ว่าจบมาต้องทำเฉพาะสถาปัตย์สายออกแบบเท่านั้น แต่จะสามารถทำงานอะไรได้บ้าง น้องๆต้องไปอ่านในบทความ ไขข้อสงสัยเรื่องของสถาปัตย์ไปกับเรา VA ในบทความกันนะ!!!!
ใครเหมาะกับการเรียน “สถาปัตยกรรม”
มีคำกล่าวว่าคนที่จะเรียน”สถาปัตย์”ต้องเก่งทั้งวิทย์และศิลป์ ซึ่งเป็นคำกล่าวที่ใกล้เคียงความจริง เนื่องจากต้องใช้เหตุผลและความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และการคำนวณ เพื่อออกแบบอาคารให้ได้มาตรฐานความแข็งแรงปลอดภัย ใช้งานพื้นฐานได้ดี และประหยัดค่าก่อสร้าง ในขณะเดียวกันก็ต้องใช้ศิลปะในการสร้างความหมาย และคุณค่าทางใจให้ปรากฏขึ้นต่อใจผู้ที่เห็น หรือใช้สอยอาคาร ซึ่งส่วนนี้ค่อนข้างเป็นนามธรรม และเป็นสิ่งที่ละเอียดอ่อน ซึ่งคนที่เรียน สถาปัตย์ จะต้องมีความสามารถหลายๆด้าน
- แต่การที่เก่าทั้งวิทย์และศิลป์ก็ยังไม่เพียงพอ ยังต้องมีสิ่งที่เรียกว่าท้กษะทางอารมณ์ หรือ SOFT SKILL เป็นส่วนที่สำคัญ
- ความสามารถในการจัดการ การวางแผน การปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น เนื่องจากงานสถาปัตยกรรมเป็นงานใหญ่ จึงต้องทำงานร่วมกันเป็นทีมกับคนจำนวนมาก ทั้งสถาปนิกในทีมเดียวกัน ลูกค้า วิศวกรโครงสร้างและระบบอาคาร ผู้รับเหมา ผู้ค้าวัสดุก่อสร้าง ผู้เชี่ยวชาญระบบพิเศษอาคาร
- สถาปนิกมีหน้าที่เป็นผู้นำ เป็นศูนย์กลางประสานทุกฝ่าย และทำทุกวิถีทางเพื่อให้งานออกมาดีที่สุด ตั้งแต่เริ่มออกแบบ ไปจนถึงสร้างอาคารเสร็จ
- ต้องใช้ทักษะการพูด ในการประสานงาน ต่อรอง เกลี้ยกล่อม เอาอกเอาใจ เข้าหาคน
- มีวุฒิภาวะทางอารมณ์ในระดับที่มากกว่าคนปกติ ต้องสามารถอดทนรับแรงกดดันทางอารมณ์จากคนอื่นๆ และความกดดันจากเวลาการทำงานที่จำกัดมาก แถมผลงานต้องออกมาดีที่สุดเท่าที่ชีวิตสถาปนิกน้อยๆจะสามารถทำได้
- สิ่งเหล่านี้อาจยังไม่ได้ประสบพบเจอโดยตรงตอนเรียนในมหาวิทยาลัย แต่เมื่อเรียนจบไปทำงานจริงแล้วไม่ทีทางเลี่ยงได้ นี่อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่คนที่เรียนจบสถาปัตย์จำนวนมากไม่สามารถทำงานเป็นสถาปนิกได้นาน ประมาณกันคร่าวๆว่าผ่านไป 5 ปี จะเหลือคนที่ยังทำงานสายออกแบบเต็มตัวประมาณครึ่งเดียว
- นอกจากจิตใจที่ต้องแข็งแกร่งแล้ว ร่างกายก็ต้องทรหดเช่นกัน การพักผ่อนหลับนอนไม่เคยใกล้เคียงคำว่าเพียงพอ ช่วงงานพีคๆมักจะถึงขั้นทำงานโต้รุ่งเพื่อให้ทันส่งตามเวลาที่นัดลูกค้าไว้ การเลื่อนส่งงานนั้นแสดงถึงความไม่ Professional ซึ่งจะมีผลให้สูญเสียความน่าเชื่อถือต่อลูกค้า อาจจะไม่จ้างเราในงานต่อไปและไม่แนะนำเราให้คนรู้จัก
- ความมีรสนิยม พิถีพิถันในแต่งตัว การเลือกใช้ของ มี LIFE STYLE ที่ดี เลือกที่เที่ยวเลือกกิน เลือกเสพศิลปะและงานออกแบบ ดูหนังฟังเพลิง มีผลกับการทำงานอย่างมาก เพราะสถาปนิกต้องการแรงบันดาลใจ และความคิดสร้างสรรค์ สิ่งเหล่านี้เป็นวัตถุดิบที่จำเป็นในการคิดงานออกแบบ ฉะนั้น การที่จะให้คนที่ไม่เคยเห็น ไม่เคยสัมผัสของดีๆ ไม่ได้อยู่ท่ามกลางสิ่งสวยๆงามๆ แล้วจะให้มาสร้างสรรค์สิ่งที่มีความพิเศษเหนือธรรมดา ย่อมไม่มีทางเป็นไปได้
- นอกจากนี้ เนื่องจากงานออกแบบแต่ละโครงการมีมูลค่าสูงมากเป็นหลักล้านถึงเป็นร้อยล้าน ลูกค้าย่อมต้องการความมั่นใจว่าจะได้งานออกแบบสถาปัตยกรรมชิ้นเยี่ยม จึงไม่แปลกที่จะพิถีพิถันในการเลือกจ้างสถาปนิก ภาพลักษณ์ภายนอกย่อมเป็นด่านแรกที่ลูกค้าจะพิจารณา เพราะหากสถาปนิกไม่รู้ว่ารสนิยมที่ดีคืออะไร ชีวิตไม่ละเมียดละไม ย่อมไม่มีทางเข้าใจความต้องการของลูกค้าที่ต้องการงาน Design ที่ดีแน่นอน
หลังจากออกแบบเสร็จเริ่มเข้างานช่วงก่อสร้างต้องออกไปตรวจหน้างานก่อสร้าง ต้องคลุกฝุ่นปูนซีเมนต์ ลุยดินลุยโคลน ปีนป่ายนั่งร้าน ขื่อคานบนอาคารสูงหลายชั้น ซึ่งหลายครั้งก็ไม่มีการป้องกันที่ปลอดภัย ท่ามกลางแสงแดดและสายฝน ซึ่งผิดกับภาพสถาปนิกตามสื่อบันเทิงหรือในจินตนาการของหลายๆคน ที่ไม่ใช่การแต่งตัวเท่ๆนั่งคิดงานตามร้านกาแฟสวยๆแต่เพียงอย่างเดียว งานสถาปนิกจึงไม่เหมาะกับคนที่อยากมีชีวิตง่ายๆสบายๆ คนสันโดษที่ไม่ชอบเข้าสังคม ไม่ชอบการพบปะผู้คนอาจจะต้องคิดให้ดีก่อนตัดสินใจเช้ามาเรียน Zaha Hadid สถาปนิกหญิงผู้ยิ่งใหญ่ได้กล่าวไว้ว่า “If You Want an Easy Life, Don’t Be an Architect”
สรุปความสามารถที่จำเป็นในการเรียน และ การทำงานสถาปัตยกรรม
- ต้องมีความอดทน (ต่อทุกสิ่ง) (นิธิ สถาปิตานนท์ ศิลปินแห่งชาติ กล่าวไว้ว่าเป็นคุณสมบัติที่จำเป็นที่สุด)
- มีมาตรฐานในการทำงานสูง เป็นคนละเอียดกว่ามนุษย์ทั่วไป เข้าขั้นจุกจิก
- มีรสนิยมที่ดีในการใช้ชีวิต
- มี Soft skill ทำงานเป็นทีมได้ดี มีความมั่นใจในตัวเอง มีความเป็นผู้นำในระดับหนึ่ง
- มีความเข้าใจ มิติสัมพันธ์ สามารถเข้าใจ และจินตการถึง รูปร่าง รูปทรง ที่ว่าง แสง เงา ที่ซับซ้อนขึ้นในใจได้เห็นภาพชัดเจน
- มีสามารถในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า
ทักษะรองที่จะช่วยเสริมการเรียนการทำงานสถาปัตยกรรม
- ความสามารถในการ Sketch ภาพที่ชัดเจน รวดเร็ว เข้าใจง่าย
- ความสามารถในการพูด หว่านล้อม เกลี้ยกล่อม เจรจา ต่อรอง
- มีวินัยในการทำงาน และการใช้ชีวิต
- Work-Life balance ให้ดี เนื่องจากสถาปนิกมีแนวโน้มที่จะทำงานหนักจนชีวิตส่วนตัวและสุขภาพกาย สุขภาพจิตมีปัญหาได้ง่าย
- มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี การที่มีคนรักคนชอบเยอะ จะช่วยให้ทำงานได้ง่าย มีอุปสรรคน้อย
- มีความสามารถในการสื่อสาร อธิบายเรื่องยากให้เข้าใจง่าย
เรียนจบสถาปัตย์ทำงานอะไรได้บ้าง
- สายหลักก็คือสายออกแบบ
เป็นสถาปนิกทำงานออกแบบสถาปัตยกรรม แต่อย่าได้คิดว่าเรียนจบมาแล้วจะได้ทำงานออกแบบสถาปัตยกรรม มีผลงานเจ๋งๆได้เลย ทันทีที่ท่านรับปริญญา ก้าวเท้าออกจากมหาวิทยาลัยเข้าสู่สำนักงานออกแบบแล้วเริ่มเข้าประจำตำแหน่งทำงานออกแบบ ท่านจะได้รู้ว่าที่เรียนผ่านมา 5 ปีแทบไม่ช่วยให้ทำงานออกแบบจริงๆได้เลย ที่เรียนมาตลอด 5 ปีนั้นเป็นเป็นเพียงความรู้พื้นฐาน เบื้องต้นมากๆ ประมาณ 1 ใน 50 ส่วนขอความรู้ที่ใช้ทำงานจริง
ท่านจะต้องเรียนรู้วิธีที่จะเป็นสถาปนิกที่แท้จริง โดยต้องทำงานเป็นผู้ช่วยพี่ๆ สถาปนิกรุ่นโตในสำนักงานออกแบบอีกประมาณ 3-5 ปี จึงจะมีความรู้เพียงพอที่จะสามารถทำงานออกแบบได้เอง หลังจากนั้นจึงจะเลือกวิถีทางของตัวเองต่อไปว่าจะเน้นทำงานในแนวทางไหน จะอยู่กับสำนักงานขนาดใหญ่หรือเล็ก หรือเลือกที่จะเปิดสำนักงานของตัวเอง
- สายผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง
หลายคนเมื่อเรียนจบแล้วได้ทำงานไปซักพักอาจจะพบความสนใจพิเศษของตัวเอง อาจจะเลือกเรียนต่อ ปริญญาโท ปริญญาเอก ในสาขาเฉพาะซึ่งมีให้เลือกหลายหลาย เช่นสาขาอนุรักษ์, เทคโนโลยีอาคาร, การประหยัดพลังงาน, การออกแบบแสง, การออกแบบเสียง, อสังหาริมทรัพย์, วัสดุศาสตร์ และอื่นๆ
- สายอาจารย์มหาวิทยาลัยเป็นทางเลือกย่อยจากข้อ 2 สำหรับคนที่เรียนต่อแล้วสนใจเบนเข็มมาทางสายวิชาการเพื่อพัฒนาองค์ความรู้และถ่ายทอดความรู้ต่อ
- สายค้าขายหลายคนทำงานออกแบบไปซักพักแล้วรู้สึกว่ามันไม่ใช่ ก็ไม่ได้ผิดอะไร ยังมีงานสายการขาย เป็นเซลล์ หรือ designner ในบริษัทขายวัสดุ อุปกรณ์ ที่เกี่ยวกับการก่อสร้าง หรือเทคโนโลยีอาคาร ตัวงานไม่ได้ด้อยกว่าการเป็นสถาปนิกจริงๆเลย แถมยังมีข้อได้เปรียบคือรายได้ดีกว่า เนื่อจากมีรายได้หลักเป็นค่า commission และเป็นงานที่สร้างโอกาสทางธุรกิจมากกว่าอีกด้วย
- สายอสังหาฯ หรือ Real estate
คือการเข้าเป็นสถาปนิกร่วมทีมในบริษัทอสังหาฯ ซึ่งอาจจะต้องมีประสบการณ์การออกแบบงานโครงการ หรือเรียนต่อปริญญาโทสาขาที่เกี่ยวข้องอสังหาริมทรัพย์ ท่านจะได้ทำงานเกี่ยวกับการวิเคราะห์ข้อมูลพื้นที่แต่ละที่ว่ามีศักยภาพแค่ไหน ควรสร้างโครงการอะไร เกรดไหน ราคาขายเท่าไหร่ ต้อง design ประมาณไหนจึงจะตอบโจทย์ลูกค้า สายนี้ก็รายได้ดีกว่าสายออกแบบ
- สายจัดการงานก่อสร้าง หรือสาย CM (Construction Management)
ในโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ ลำพังผู้ออกแบบกับผู้รับเหมาไม่สามารถทำงานก่อสร้างอาคารให้ออกมาดีได้ จำเป็นต้องมีผู้จัดการการก่อสร้างหน้างานเพื่อควบคุมงานก่อสร้างให้เนไปตามที่ควรจะเป็น และได้คุณภาพดี เสร็จทันเวลา ซึ่งเป็นงานที่มีรูปแบบเฉพาะ จัดเป็นอาชีพอีกอาชีพหนึ่ง คนที่จะทำงานนี้ได้ต้องเป็นสถาปนิกหรือวิศวกรที่มีประสบการณ์การออกแบบและการตรวจหน้างานมามากพอ แล้วก็เช่นเดียวกัน งานสายนี้รายได้ดีกว่าสายออกแบบ
- สายออกแบบข้ามสายไม่ใช่เรื่องแปลกที่สถาปนิกเมื่อทำงานไปวักพักจะมีบางคนที่เริ่มทำงานข้ามสาย เช่น นักออกแบบภายในทำงานสถาปัตย์ สถาปนิกข้ามไปทำงานภูมิสถาปัตย์ สถาปนิกไปเป็น Graphic designer หรือ fashion designer ก็มีให้เห็นได้บ่อยๆ เนื่องจากการออกแบบทุสาขามีพื้นฐานและจุมุ่งหมายเดียวกันคือการสร้างสรรค์สิ่งที่มีคุณค่าเหนือสิ่งธรรมดาสามัญ แล้วจึงแสดงออกมาเป็นสิ่งต่างๆในรูปแบบต่างๆกัน แยกออกเป็นสาขาต่างๆ
- สายธุรกิจเนื่องจากสถาปนิกเป็นการรวมองค์ความรู้ที่หลากหลายมาใช้สร้างงาน และต้องมี sense ในการแก้ปัญหา การจัดการ และยังมีความสามารถในการเป็นผู้นำทีม จึงไม่แปลกหากจะมีสถาปนิกบางคนใช้สิ่งที่เรียนรู้ฝึกหัดเหล่านี้มาในการทำธุรกิจ เพียงแต่ต้องเปลี่ยนจุดมุ่งหมายในการสร้างงานที่ดี ตอบสนองคุณค่าทางใจ มาเป็นการตอบสนองทางธุรกิจ จุดนี้ต้องระวังมากๆ เพราะมีสถาปนิกหลายรายที่ทำธุรกิจไม่ประสบความสำเร็จ ต้องเจ็บเนื้อเจ็บตัวเพราะไม่สามารถออกจากความเคยชิน ที่จะต้องทำงานให้ดีที่สุด สถาปนิกที่จะเบนเข็มมาทางธุรกิจ ต้องระวังจุดนี้ให้ดี
- สายศิลปะงานออกแบบสถาปัตยกรรมเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับการเล่นกับการรับรู้และประสบการณ์ของคนในแง่มุมต่างๆ นี่เป็นส่วนที่งานออกแบบเหมือนกับงานศิลปะ เพียงแต่งานออกแบบมักจะตอบสนองโจทย์ของลูกค้าซึ่งเป็นเจ้าของงานตัวจริง หรือไม่ก็เน้นการแก้ปัญหาบางอย่างเพื่อสร้างสิ่งที่ดีกว่าสิ่งเดิมๆที่เคยมีมา ในขณะที่งานศิลปะมักเกิดจากประเด็นที่ตัวผู้สร้างงานต้องการสื่อออกไปให้คนอื่นได้รับรู้ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะมีสถาปนิกบางคนทำงานไปเรื่อยๆแล้วเกิดมีประเด็นบางอย่างในใจที่ตัวเองอินกับมันมากๆจนอยากจะทำงานที่สื่อถึงมันออกมาโดยไม่มีคนจ้างให้ทำ แล้วค่อยๆเบนไปสู่การเป็นศิลปินเต็มตัว และจริงๆก็มีน้องๆหลายคนที่ชอบวาดรูป ชอบทำงานศิลปะ แต่เลือกเรียนสถาปัตย์ด้วยเหตุผลเรื่องความมั่นคงทางอาชีพ หรืออิทธิพลจากคนในครอบครัว แต่เมื่อทำงานไปเรื่อยๆ สุดท้ายก็หนีตัวตนของตัวเองไม่พ้น ก็ย้อนกลับมาทำในสิ่งที่เป็นตัวเอง
- สายบันเทิง ดารา นักแสดง นักดนตรี พิธีกร ผู้จัดรายการเช่นเดียวกับสายศิลปะที่เน้นการสร้างสรรค์และการสื่อสาร ในคณะสถาปัตย์มักจะมีกิจกรรมเฉพาะคือละคอนถาปัด ซึ่งเป็นกิจกรรมใหญ่และจริงจังกันมาก มีการถ่ายทอดองค์ความรู้ต่างๆจากรุ่นพี่สู่รุ่นน้องอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลายาวนานหลายสิบปี น้องๆหลายคนก็มุ่งฝึกทางนี้อย่างจริงจังจนสามารถเอาดีทางนี้ได้ โดยเฉพาะคณะสถาปัตย์ จุฬาฯ เป็นต้นตำรับสถาปัตย์สายบันเทิง มีรุ่นพี่ในวงการมากมาย โดยเฉพาะรุ่นใหญ่ๆ เป็นสายสัมพันธ์ฉันพี่น้องที่ยังนำน้องรุ่นใหม่ๆเข้าสู่วงการอย่างต่อเนื่องจนปัจจุบัน
สรุปคนเรียนสถาปัตย์ทำงานอะไรได้บ้าง?
คนเรียนสถาปัตย์จริงๆแล้วสามารถทำงานได้แทบทุกอย่าง โดยมีข้อได้เปรียบคนที่เรียนจบสายอื่นอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากถูกฝึกมาให้ใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ มีความคิดเป็นระบบชัดเจน มีความอดทนในการทำงานหนัก รับแรงกดดันได้มาก มีทักษะในการสื่อสาร การแก้ปัญหา การทำงานเป็นทีม มีทักษะการจัดการ พร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ช่างสังเกตุ เรียกได้ว่าครบเครื่อง โดยมีจุดอ่อนที่ยึดติดการทำงานให้ดีที่สุด ซึ่งการทำงานอื่นๆที่ไม่ใช่การออกแบบ อาจต้องปล่อยวางและ balance ระหว่างเรื่องคุณภาพงานกับเรื่องอื่นๆ ฉะนั้นหากใครที่ได้เข้าไปเรียนแล้ว รู้สึกว่าไม่เหมาะกับตัวเรา หรืออาจจะทำงานออกแบบได้ไม่ดีเมื่อเทียบกับเพื่อนๆ ก็ขอว่า อย่าเพิ่งใจเสีย อย่าจมกับความรู้สึกไม่ดี หรือเครียดมากเกินไป ลองพยายามเรียนรู้เรื่องต่างๆแล้วหาทางประยุกต์ใช้สิ่งที่เรียนมาในด้านอื่นๆ มีคนที่เรียนจบสถาปนิกจำนวนมากที่ไม่ได้ทำงานออกแบบแล้วก็ยังสามารถประสบความสำเร็จ ขอให้เปิดใจให้กว้างๆ และสนุกกับการใช้ชีวิต จะทำให้เราเห็นโอกาสดีๆที่เข้ามา
สามารถติดต่อเราได้ที่นี้
ครูอะไหล่
เบอร์โทรศัพท์ : 083-615-2391
Facebook : viridian academy of art
Line : @viridian
Instargram : viridian academy of art
Email : viridian.academy.2019@gmail.com
หรือ จากปุ่มมุมขวาล่าง